ลองจินตนาการว่า หากคุณอ่านบทความนี้จบ แล้วเห็น “Call to Action” ด้านล่างที่เขียนว่า
รับฟรีทันที “หนังสือสูตรลับการตลาดออนไลน์ สร้างยอดขายจากหลักร้อยสู่หลักล้านภายใน 1 ปี”
จำนวน 1 เล่ม ฟรี!
ด่วน! เฉพาะ 100 คนแรกที่ลงทะเบียนเท่านั้น
คลิกลงทะเบียนเลย!
….อยากลองคลิกเพื่อรับดูหนังสือดูมั้ยครับ?
ข้อความด้านบนนี้เป็นเพียงตัวอย่างของการใช้ “Call to Action” หรือเรียกย่อๆ ว่า “CTA” นั่นเอง ซึ่ง Call to Action นี้โดยทั่วไปแล้วเราจะนำมันมาใช้ดึงดูดความสนใจของกลุ่มเป้าหมายให้อ่านสิ่งที่เราต้องการจะสื่อเพื่อให้พวกเขาลงมือทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เรากำหนดนั่นเอง เช่น คลิกดาวน์โหลด, คลิกลงทะเบียน เป็นต้น
วันนี้ผมมี 7 เทคนิคเจ๋งๆ ที่จะช่วยให้คุณเขียน “Call to Action” ได้แบบทรงพลังมาฝาก ซึ่งล้วนเป็นเทคนิคที่จะช่วยดึงดูดความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย (Grab Attention) จนพวกเขาต้อง “คลิก” ทันที!
Call to Action หรือ CTA คืออะไร? มีเทคนิคการใช้งานและมีประโยชร์สำหรับทำการตลาดและโฆษณาอย่างไร?
ในทางการตลาด Call to Action หรือ CTA คือ ส่วนของข้อความที่ปรากฎอยู่บนโฆษณาเพื่อบอกกลุ่มเป้าหมายที่เห็นโฆษณาว่าต้องทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทันทีที่ “คลิกปุ่ม” หรือข้อความกระตุ้นที่อยู่บนโฆษณานั้นๆ เช่น กลุ่มเป้าหมายเห็นโฆษณา A แล้วกดคลิกปุ่ม “Buy Now” เพื่อไปซื้อสินค้าต่อบนเว็บไซต์ ปุ่มและข้อความกระตุ้นนี้คือ Call to Action หรือ CTA ที่เรากำลังจะพูดถึงต่อไปนั่นเอง
การสร้าง Call to Action ที่ดีนั้น เราต้องคำถึงการให้รายละเอียดข้อมูลที่ครบและเข้าใจง่าย เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่เห็นโฆษณาเข้าใจทันทีว่า ทำไมเขาต้องตัดสินใจคลิกเพื่อไปดูรายละเอียดสินค้าในขั้นตอนต่อไป ซึ่งเทคนิคที่จะสร้าง Call to Action ให้ปังและทรงพลังมากยิ่งขึ้นนั้น มีดังนี้
1. เริ่มด้วย “คำกิริยา” ที่กระชับตรงประเด็นทุกครั้งที่เขียน Call to Action
เนื่องจากขนาดพื้นที่ในโฆษณาของเรานั้นมีจำกัด โฆษณาที่มีข้อความยาวเกินไปนั้น อาจจะทำให้คนที่เห็นโฆษณาต้องใช้เวลาสรุปใจความนานเกินไป และทำให้เขาไม่สนใจที่จะอ่านและคลิกปุ่ม Call to Action ตามที่เราต้องการ ดังนั้นการเริ่มต้นประโยคด้วย “คำกิริยา” จะช่วยให้ข้อความ call to action นั้นกระชับ ตรงประเด็น และทำให้คนอ่านเข้าใจทันทีว่าเขาต้องทำอะไรต่อไป
ยกตัวอย่างเช่น ซื้อตอนนี้! (Buy Now!), ลงทะเบียนทันที (Register Now), โทรเลย (Call Now!), สมัครสมาชิกตอนนี้(Subscribe Now) เป็นต้น
2. ใน Call to Action ให้ใช้คำที่ “กระตุ้น” อารมณ์ และเร้าให้คนที่เห็นโฆษณาต้องคลิกดูต่อ
เพราะธรรมชาติของคนเราเมื่อเห็นอะไรที่มากระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกที่ตนเองชอบแล้วก็มักจะตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม เช่น คนที่ชอบสินค้าลดราคาแรง ๆ อยู่แล้ว เมื่อเห็นข้อความโฆษณาที่ว่า “ชิ้นที่สอง 1 บาท!” หรือ “ซื้อตอนนี้ลดทันที 50% !” ก็ย่อมจะให้ความสนใจมากกว่าข้อความทั่วไปที่ไม่มีจุดกระตุ้นอารมณ์ อีกทั้งการใส่เครื่องหมายอัศเจรีย์ต่อท้ายก็ถือว่าเป็นทริคเล็ก ๆ แต่ก็ใช้ได้ผลเช่นกัน
3. ให้เหตุผลเด็ดๆ ว่า “ทำไม” เขาต้องตัดสินใจคลิกและทำตามที่เราต้องการ
ข้อนี้สำคัญมากที่สุด เพราะก่อนที่จะคิด Call to Action ใด ๆ ก็ตาม เราต้องจำลองตัวเองเป็นกลุ่มเป้าหมายและตั้งคำถามที่ว่า “ทำไมฉันจะต้องคลิก Call to Action หรือ CTA อันนี้ทันทีล่ะ ฉันจะได้ประโยชน์อะไรเมื่อคลิกเข้าไปดู?
แน่นอนว่า สินค้าและบริการแต่ละประเภทล้วนมีเหตุผลที่ไม่เหมือนกัน วิธีที่ง่ายที่สุดคือ “การใช้จุดแข็งของสินค้าและบริการ” (Unique Selling Point) มาใช้ใน Call to Action เพื่อให้เหตุผลว่าทำไมพวกเขาต้องคลิกตอนนี้ ยกตัวอย่างเช่น
– อาหารเสริมตัวนี้ทานแล้วช่วยลดน้ำหนักภายใน 4 สัปดาห์ ซื้อวันนี้ รับสินค้าฟรีอีก 1 ชิ้น คลิกเลย!
– คอร์สเรียนการตลาดนี้จะช่วยให้คุณเป็น Marketing Expert ได้ภายในระยะเวลา 2 เดือน ทดลองเรียนฟรีก่อน 30 วัน คลิกเลย!
– ลงทะเบียน รับสินค้าทดลองที่จะช่วยให้ผิวหน้าคุณดีขึ้นภายใน 2 สัปดาป์ ไปใช้ฟรี คลิกเลย!
– โทรตอนนี้ รับสิทธิ์ปรึกษาฟรีจากแพทย์ทันที!
ฯลฯ
4. ใช้กฎ Fear of Missing (FOMO) กระตุ้นให้คนอ่านรู้สึกกลัวหรือเสียดายถ้าไม่ได้คลิกตอนนี้
ตัวนี้เป็นสุดยอดคลาสสิกแทคติกที่ต้องนำเอามาใช้เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมาย “รู้สึกกลัวหรือเสียดาย” หากไม่ได้ตัดสินใจลงมือทำตอนนี้ ก็อาจจะเสียโอกาสในการคว้าสิทธิพิเศษและข้อเสนอที่ถือว่า “คุ้มค่า และ มีประโยชน์” ต่อพวกเขา ยิ่งสินค้าและบริการนั้นมี “จำนวนจำกัด” หรือ “มีเวลาจำกัด” ก็จะยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้พวกเขาตัดสินใจคลิกปุ่ม Call to Action ได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น
กดโทรสั่งซื้อสินค้าตอนนี้ ลดทันที 50% พร้อมสิทธิการซื้อสินค้าชิ้นที่ 2 ในราคา 1 บาท ด่วน! จำกัดเฉพาะ 50 คนแรกที่ โทรเข้ามาภายใน 30 นาทีนี้เท่านั้น โทรเลย!
จากข้อความด้านบน จะเห็นได้ว่ามีจุดกระตุ้นให้คนที่เห็นโฆษณาหรือได้ยิน รู้สึกว่าสิทธิพิเศษนี้ถูกจำกัดเพียง 50 คน และต้องโทรทันทีภายใน 30 นาทีนี้ จึงจะได้รับสิทธิพิเศษนี้เท่านั้น ซึ่งนี่ถือว่าเป็นสูตรไม้ตายที่เราเห็นจากการขายสินค้าและบริการบนสื่อต่างๆ ในไทย โดยเฉพาะบนทีวี ที่เน้นการขายตรงที่เรียกว่าแบบ “Direct Sales หรือ Direct Marketing” (การขายและการตลาดทางตรง”) ที่แบรนด์ทำการขายสินค้าของตัวเองส่งตรงไปยังผู้บริโภคได้เลย ไม่ต้องผ่านตัวกลาง ส่วนบนการตลาดออนไลน์ เราก็จะเห็นการสร้าง Call to Action ลักษณะนี้บ่อยๆ บนทุกแพลตฟอร์มโฆษณา
5. ออกแบบ Call to Action ให้เหมาะสมตามอุปกรณ์ใช้งาน
อีกสิ่งที่ต้องคำนึงถึงทุกครั้งที่จะสร้าง Call to Action นั่นคือ เราจะสร้าง call to action บนหน้าจออุปกรณ์การใช้งานประเภทใด? ยกตัวอย่างช่น
– หากต้องการสร้าง call to action ที่อยู่หน้าเว็บไซต์แบบ Desktop ต้องออกแบบอย่างไรให้โดดเด่นสะดุดตากลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด? ยกตัวอย่างเช่น
– หรือหากจะเขียน call to action ลงบนโฆษณาดิจิตอลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Google Ads Search (SEM), Youtube Ad, Display Ad หรือ Social Media Platform เช่น Facebook, Instagram, Line, Twitter, Tiktok ฯลฯ ก็ต้องคำนึงว่าจะเขียนอย่างไรให้โดดเด่นทั้งบน Mobile และ Desktop ซึ่งสิ่งที่ควรคำนึงมากที่สุด คือการทำความเข้าใจ Ad Formats ของแต่ละ Platform ก่อนว่ามีข้อแตกต่างกันอย่างไร? จากนั้นจึงค่อยสร้าง Call to Action ให้เหมาะสมกับ Platform นั้นๆ ต่อไป
6. ใส่ความครีเอทีฟลงไปใน Call to Action ได้มากที่สุด (Creative Copywriting)
ส่วนนี้คืออีกส่วนที่ต้องใส่ใจในรายละเอียดและให้ความสำคัญมากๆ ในการเขียน Call to Action ให้ตรงประเด็นและโดดเด่นสะดุดตากลุ่มเป้าหมายให้คลิก เพราะการเขียนข้อความโฆษณาที่เรียกว่า “Copywriting” นั้นถือว่าเป็นความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละคน แต่แน่นอนครับว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่แต่ละคนฝึกฝนได้
ทริคเล็กๆ ในการฝึกเขียนให้คม กระชับ และดึงดูดมากยิ่งขึ้นคือ การลองเขียน Call to Action ออกมา 2 ชุด โดยกำหนดให้ชุดที่ 1 เป็นชุดที่เขียนโดยใช้โครงสร้างประโยคทั่วไป ส่วนชุดที่ 2 นั้นให้ใส่มูลค่าหรือคุณประโยชน์ที่กลุ่มเป้าหมายจะได้รับ ยกตัวอย่างเช่น
ชุดที่ 1 : คลิกดูสิทธิพิเศษได้เลยวันนี้!
ชุดที่ 2 : สิทธิพิเศษมากกว่าพันรายการรอคุณอยู่เพียงแค่ปลายนิ้ว คลิก!
แต่คำถามคือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า Call to Action อันไหนให้ผลลัพธ์ดีกว่ากัน?
วิธีเปรียบเทียบและทำการ “การทดลอง” เพื่อหาคำตอบบนี้ เราทำได้ด้วยการใช้หลักการทำ “AB Testing” ซึ่งเป็นหลักการที่ช่วยทำให้เราเห็นว่า call to action อันไหนให้ผลลัพธ์ที่ดีกับเรามากกว่ากัน? หากอันไหนที่ได้ผลลัพธ์ที่ดี เราก็ถือว่าเป็น Winning Call to Action ที่เราจะนำมาใช้บนงานโฆษณาต่อไป
นอกจากนี้ เรายังสามารถคิด call to action ใหม่ๆ มาเปรียบเทียบได้เรื่อยๆ เพราะอย่างที่รู้กันว่า ผลลัพธ์ที่ดีวันนี้ มันอาจจะไม่ดีในวันข้างหน้าก็เป็นได้ ดังนั้นหลักการทำการตลาดที่ดีคือการปรับปรุงประสิทธิภาพของแคมเปญการตลาดและโฆษณาของเราให้มีผลลัพธ์ที่ดีอยู่เสมอ (Campaign Optimization)
7. ใช้พลังของ “ตัวเลข” เข้ามาชูความโดดเด่นใน Call to Action
เหตุผลคือ เพราะ ยิ่งตัวเลขมีความโดดเด่นมากเท่าไร โอกาสที่คนจะคลิกปุ่ม call to action ก็มากยิ่งขึ้นนั่นเอง
ตัวเลขที่เราควรใช้เสมอในการสร้าง call to action ที่ดี คือตัวเลขประเภท ราคาพิเศษ, ส่วนลดพิเศษ, จำนวนสินค้าที่มีจำกัด, สิทธิพิเศษที่จำกัดจำนวนคน หรือ แม้กระทั่งตัวเลขที่เป็นวันเวลาหมดเขต รวมถึงตัวเลขเวลานับถอยหลัง (Countdown) ล้วนเป็นตัวเลขเชิงจิตวิทยาที่ช่วยกระตุ้นอารมณ์และความรู้สึกตรงไปยังกลุ่มเป้าหมายให้ตัดสินใจที่จะคลิกปุ่ม Call to Action เพื่อดูรายละเอียดต่างๆ ก่อนจะทำการตัดซื้อสินค้าและบริการในขั้นตอนต่อไป
ทั้งหมดก็คือ 7 เทคนิคลับที่จะช่วยให้คุณเขียน “Call to Action” หรือ “CTA” ได้ทรงพลัง เร้าใจจนคนต้องคลิก! หากคิดไอเดียไม่ออกว่าจะสร้าง call to action แบบไหน ลองดูจากตัวอย่างบนเว็บไซต์ e-commerce หรือ พวกโฆษณาบน Lazada และ Shopee ก็ได้ครับว่าเขาใช้รูปแบบไหนทำให้คนตัดสินใจซื้อ
หรือลองนึกดูว่าครั้งล่าสุดที่คุณตัดสินใจซื้อสินค้า คุณได้คลิก call to action แบบไหน? แล้วลองกลับไปดูว่าเขาใช้เทคนิคอะไรในการกระตุ้นตัวเราให้คลิกปุ่มซื้อสินค้าจนสำเร็จ